การตั้งศาลพระภูมิไว้ที่บ้าน เป็นสิ่งที่มีการทำต่อเนื่องตั้งแต่ในอดีต และอยู่คู่กับบ้านของคนไทยมาอย่างยาวนาน เพราะมีความเชื่อสืบทอดต่อกันมาว่าสถานที่ใดที่มีศาลพระภูมิจะช่วยให้สถานที่นั้นอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข แคล้วคลาดปลอดภัย ใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างราบรื่น ซึ่งแน่นอนว่าควรจะต้องดูแลและทำความสะอาดศาลพระภูมิอย่างสม่ำเสมอ เพราะถือเป็นการแสดงความเคารพต่อท่าน และยังเชื่อว่าจะได้รับการปกปักรักษา และมีแต่เรื่องดี ๆ เข้ามาในบ้านอีกด้วย
ทำความสะอาดศาลพระภูมิ
ตามประเพณีของไทย การทำความสะอาดที่กล่าวถึงนั้น ไม่ใช่เพียงการทำความสะอาด หรือจัดเก็บให้เรียบร้อยเท่านั้น แต่จะต้องคอยดูแลทั้งเรื่องการถวายของไหว้ ความสวยงาม ความสว่าง และหมั่นตรวจสอบสิ่งของภายในศาลว่ามีการแตกหัก หรือชำรุดหรือไม่ หรือแม้แต่ความสะอาดบริเวณรอบ ๆ ที่ตั้งศาลพระภูมิก็จะต้องให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน (เรียนรู้เพิ่มเติม เลือกสีศาลพระภูมิ อย่างไรให้เหมาะกับเจ้าของบ้าน)
ขั้นตอนทำความสะอาดศาลพระภูมิ
- นำสิ่งของภายในศาลพระภูมิทั้งหมดออกมา เพื่อจะได้ทำความสะอาดได้อย่างถนัด และสิ่งของต่าง ๆ ไม่เสี่ยงต่อการแตกหักหรือเสียหาย
- ปัดฝุ่น และหยากไย่ทั้งในและนอกตัวศาลออกให้หมด โดยใช้ไม้กวาดขนนก ปัดฝุ่นออก หากเป็นบริเวณที่ไม่สามารถใช้ไม้กวาดขนนกได้ สามารถคอตตอนบัต หรือสำลีก้านเล็กค่อย ๆ ถูออกแทนได้
- นำผ้าเปียกมาเช็ด ทำความสะอาดบริเวณศาลพระภูมิให้ทั่ว
- หากเป็นศาลพระภูมิขนาดใหญ่ที่อยู่นอกตัวบ้าน ให้ใช้สายยางฉีดน้ำล้างรอบ ๆ ตัวศาล แต่หากเป็นศาลที่อยู่ในบ้านก็ให้ใช้แค่ผ้าชุบน้ำมาเช็ด
- นำผ้าแห้งมาเช็ดฝุ่นหรือคราบต่าง ๆ ที่ขจัดไม่หมดให้เรียบร้อย
- รอให้ตัวศาลแห้งสนิท จากนั้นให้นำสิ่งของที่นำออกมา กลับไปจัดวางไว้เหมือนเดิม
เมื่อทำความสะอาดตัวศาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ควรที่จะหาพวงมาลัย หรือดอกไม้มาใส่แจกันถวาย จะทำให้ศาลมีความสวยงาม และดูสบายตามากยิ่งขึ้น
วิธีไหว้ศาลพระภูมิที่ถูกต้อง
ในการไหว้ศาลพระภูมิจะต้องเตรียมของไหว้ศาลพระภูมิ หรือเครื่องเซ่นไหว้ให้ครบถ้วน โดยจะต้องเตรียมทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่ ของบูชา ของคาว และของหวาน
- ของบูชา : ดอกไม้ พวงมาลัย ข้าวปากหม้อ (ข้าวที่หุงใหม่เท่านั้น) แกง และแกงจืด
- ของคาว : หัวหมู เป็ด ไก่ กุ้ง ปู ปลามีหัวและหาง
- ของหวาน : ขนมสามทอง ขนมเม็ดขนุน ขนมสีขาว-สีแดง กล้วย มะพร้าวน้ำหอมอ่อน นม เนย และผลไม้ต่าง ๆ
ในการไหว้จะจุดธูป 9 ดอก ตั้งนะโม 3 จบ แล้วต่อด้วยพระคาถาไหว้ศาลพระภูมิ
“ภูมมัสมิง ทิสาภาเค สันติภูมมา มหิทธิกา เตปิตุมเห อนุรักขันตุ อาโรคเยนะ สุเขนะจะ” (3 จบ)
สิโรเม ขอเดชะพระภูมิเทวารักษาที่ รับพระพรจากเจ้ากรุงพาลี ให้วัฒนาถาวรสิ่งสุขแด่ข้าพเจ้า ขอให้ข้าพเจ้า (คำอธิษฐาน) มั่งมีเงินทองและทรัพย์พัสดุข้าวของเนืองนอง โสตถิ ชัยยะ ภะวันตุ เม”
โดยปกติแล้วควรจะไหว้พระภูมิทุกวันพระ วันอังคาร วันเสาร์ หรือวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันเกิดของตัวเอง และวันนักขัตฤกษ์
การกล่าวขอขมาพระภูมิ
การขอขมา และขอพรให้ท่านช่วยปกป้องคุ้มครองคนในบ้าน ให้ตั้งนะโม 3 จบ จากนั้นกล่าวคำขอขมา
“อิติสุขะโต อะระหังพุทโธ นะโม พุทธายะ ปฐวีคงคา พระภูมิเทวา ขะมามิหังฯ”
ซึ่งจะเป็นคาถาที่ใช้ในกรณีทำความสะอาด เปลี่ยนศาล หรือซ่อมศาลพระภูมิ หากมีสิ่งของที่ชำรุดแตกหัก
ทำไมจะต้องขอขมาพระภูมิ
เพราะมีความเชื่อมาอย่างยาวนานว่า สิ่งเคารพบูชาไม่สมควรที่จะมีของแตกหักอยู่ในศาล จะถือว่าเป็นสิ่งอัปมงคลอย่างมากกับเจ้าของบ้าน หากพบว่าของในศาลมีความเก่า หรือชำรุดแตกหักก็ควรที่จะทำการเปลี่ยนใหม่อย่างทันที ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ หรือแม้แต่ตัวศาลที่โดนต้นไม้ตกมาทับ หรือชำรุดด้วยกาลเวลา ก็ควรจะต้องรีบเปลี่ยนในทันทีเช่นเดียวกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนดูแลศาลพระภูมิ ทำความสะอาดศาลพระภูมิ
บทสรุป
การหมั่นดูแลรักษาความสะอาด และคอยถวายของไหว้ ถวายน้ำ ดอกไม้ธูปเทียน นอกจากจะช่วยให้พระภูมิ หรือสิ่งศักดิ์ที่สถิตภายในศาลพระภูมิในบ้านช่วยปกปักรักษา ช่วยคุ้มครองทุกคนในบ้าน นำความสงบสุข และมีแต่เรื่องดี ๆ เข้ามาในบ้านแล้ว ยังส่งผลให้บ้านสะอาดมากขึ้น ไม่ต้องกังวลถึงสัตว์เล็ก สัตว์น้อยที่อาจจะมีพิษ หรือสร้างความเดือดร้อนเข้ามารบกวนอีกด้วย และหากพบว่ามีความเสียหาย หรือแตกหักเพียงเล็กน้อย ก็ควรที่จะซ่อมบำรุง หรือทำการเปลี่ยนศาลพระภูมิใหม่เพื่อเป็นศิริมงคลกับทุกคนในบ้าน แต่ถ้าต้องการศาลพระภูมิหรือคำแนะนำต่าง ๆ สามารถทักเข้ามาสอบถามที่ เมืองราชศาลพระภูมิ ได้เลย เพราะที่นี่มีบริการจำหน่าย ตั้งศาลพระภูมิให้คุณถึงบ้าน มีศาลพระภูมิรูปแบบต่าง ๆ ให้เลือกไม่ว่าจะเป็นรูปแบบดั้งเดิมหรือศาลพระภูมิโมเดิร์น